วันอาสาฬหบูชา ตรงกับวันแรม 15 ค่ำ เดือน 8 ถือเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา หลายคนอาจยังไม่ทราบว่ามีที่ไปที่มาอย่างไร เกี่ยวข้องกับพุทธประวัติอย่างไรบ้าง เราจะเล่าให้ฟัง
คำว่า “อาสาฬหบูชา” แปลว่า เดือน 8 ทางจันทรคติ กับคำว่า “บูชา” ที่แปลว่า การบูชา เมื่อนำมารวมกันจึงแปลว่า “การบูชาในเดือน 8 หรือการบูชาเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญในเดือน 8” โดยถือกำเนิดขึ้นในช่วงก่อนพุทธศักราช 45 ปีเป็นวันคล้ายวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาหรือเทศน์กัณฑ์แรก เรียกว่า “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” แปลว่า พระสูตรแห่งการหมุนวงล้อธรรม (เป็นวันที่ล้อแห่งพระธรรมของพระพุทธเจ้าได้หมุนไปเป็นครั้งแรก) ในการนั้นพระองค์ทรงแสดงธรรมโปรดพระปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ได้แก่ พระโกณฑัญญะ, พระวัปปะ, พระภัททิยะ, พระมหานามะ และพระอัสสชิ ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี แคว้นมคธ จนพระอัญญาโกณฑัญญะ ได้บรรลุธรรมและขอบวชเป็นพระภิกษุรูปแรกในพระพุทธศาสนา และทำให้พระรัตนตรัยครบองค์ ๓ คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
ข้อมูลจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ อธิบายใจความสำคัญของปฐมเทศนา ที่มีหลักธรรมสำคัญอยู่ 2 ประการ ได้แก่
1.มัชฌิมาปฏิปทา หรือทางสายกลาง
คือการปฏิบัติที่เป็นกลางและถูกต้องเหมาะสม ไม่สุดโต่งไปทางใดทางหนึ่งมากเกินไป โดยใช้หลักทางสายกลางในการดำเนินชีวิต ซึ่งมีหลักปฏิบัติ 8 ประการ ที่เรียกว่า อริยอัฏฐังคิกมัคค์ หรือ มรรคมีองค์ 8 ได้แก่
- สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบ
- สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ
- สัมมาวาจา เจรจาชอบ
- สัมมากัมมันตะ ทำการงานชอบ
- สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีพชอบ
- สัมมาวายามะ เพียรชอบ
- สัมมาสติ ระลึกชอบ
- สัมมาสมาธิ ตั้งใจชอบ
2.อริยสัจ 4 หรือความจริงอันประเสริฐของอริยะ ซึ่งเป็นบุคคลที่ห่างไกลกิเลสได้แก่
- ทุกข์ หรือความไม่สบายกายไม่สบายใจ
- สมุทัย หรือเหตุให้เกิดทุกข์
- นิโรธ หรือความดับทุกข์
- มรรค หรือข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์